ลดน้ำหนักได้...ไม่ต้องอด
โดย : กฤษฎี โพธิทัต
เซลลูไลท์ที่ขา สะโพกที่ใหญ่ ไขมันที่หน้าท้องเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์สำหรับสาวๆ ใครมีไขมันส่วนเกินก็กลัวว่าจะใส่เสื้อผ้าที่แอบเซ็กซี่นิด ๆ แล้วไม่สวย จึงหันไปไดเอท อดอาหาร ออกกำลังกายหักโหม เพื่อรีดไขมันพวกนี้ออกไป แต่ผู้ที่เริ่มไดเอท ส่วนมากก็จะเลิกไดเอทเอาง่าย ๆ น้ำหนักที่ลดลงกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ และอาจมากกว่าเดิม
คงจะเคยได้ยินคนที่กำลังลดน้ำหนักพูดว่า “ทำไม่ได้เพราะอดใจไม่ไหว” หรือ “ตบะแตก” กันบ้าง นั่นเป็นเพราะอดอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะห้ามตนเองกินสิ่งที่ชอบ อาหารช่วงไดเอทอาจซ้ำซากจำเจ เมื่ออดมาก ๆ ตลอดทั้งวัน ทำให้ไม่มีแรง รู้สึกหิวโหยในช่วงเย็น และลงเอยโดยการกินทุกอย่างที่ขวางหน้า สิ่งที่ตามมาคือความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เสียความมั่นใจในตนเอง วงจรของการลดน้ำหนักเป็นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
มาเลิกไดเอทกันเถอะค่ะถ้าคุณเผชิญกับปัญหาน้ำหนักขึ้น ๆ ลง ๆ จากการไดเอท คุณควรรู้จักวิธีจัดการกับอาหารที่ชอบ ไม่ใช่ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง คุณสามารถรับประทานอาหารที่ชอบได้ทุกวันในปริมาณที่พอเหมาะ การทำเช่นนี้จะทำให้ความอยากอาหารลดลง การลดน้ำหนักจะประสบผลสำเร็จและถาวรมากขึ้น
การลดน้ำหนักเพื่อให้สุขภาพดี และประสบความสำเร็จนั้นต้องให้ความสำคัญกับ
1. ปริมาณอาหารที่รับประทาน
2. เวลาที่รับประทาน
3. ทำไมถึงรับประทาน
ก่อนที่จะตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักลงเท่าใดนั้น ควรประเมินสรีระของร่างกายตนเองก่อน ผู้ที่หนัก 130 กิโลกรัม และมีไขมันในตัวมาก จะลดน้ำหนักลงได้ง่ายกว่า และเร็วกว่าผู้ที่มีกล้ามเนื้อเยอะ และต้องการลดน้ำหนักลงเพียงแค่ 5 กิโลกรัม พันธุกรรมก็มีส่วนเป็นตัวกำหนดน้ำหนักที่ควรเป็นด้วยเหมือนกัน
7 ขั้นตอนเพื่อลดไขมันส่วนเกิน
1. จดบันทึกอาหารที่รับประทาน และเครื่องดื่มต่าง ๆ อย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ควรบันทึกว่าทำไมถึงรับประทาน อาจจะไม่ใช่เพราะความหิว แต่เป็นเพราะความอยาก เบื่อ เหงา เศร้า หรือหงุดหงิด งานวิจัยพบว่าผู้ที่จดบันทึกอาหารสามารถลดน้ำหนักได้ผลดีกว่าผู้ที่ไม่บันทึก การจดบันทึกนี้จะทำให้เห็นแบบอย่างลักษณะการบริโภคที่นำไปสู่ความอ้วนได้ เช่น ใช้ขนมเป็นตัวปลอบใจขณะที่รู้สึกเศร้า หรือรับประทานอาหารในช่วงวันน้อยมาก จึงทำให้หิวมากในช่วงเย็น เป็นต้น เมื่อทราบเช่นนี้จะช่วยให้มีกลยุทธ์ในการแก้ไขพฤติกรรมอย่างถูกต้อง อาจเป็นการหาวิธีอื่นที่ไม่ใช้อาหารเป็นการปลอบใจหรือเป็นรางวัล เช่น การคุยกับเพื่อน ออกไปเดินเล่น ทำสวน ทำเล็บ อาบน้ำสัตว์เลี้ยง เป็นต้น นอกจากนี้ควรบันทึกเวลาที่ออกกำลังกายด้วย เพื่อดูนิสัยการออกกำลังกาย
2. เน้นมื้อเช้าและมื้อเที่ยง เพราะจะทำให้มีแรงทำงาน และออกกำลังกายในช่วงเย็น ถ้าต้องการพลังงานวันละ 1,300 แคลอรี่ ให้แบ่งแคลอรี่แต่ละมื้อเป็น 500-500-300 (เช้า-กลางวัน-เย็น)
3. รับประทานอาหารช้า ๆ งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักเกินมักมีพฤติกรรมรับประทานอาหารเร็วกว่าสมองจะใช้เวลารับรู้ว่าท้องอิ่มประมาณ 20 นาที ดังนั้นการกินอาหารช้า ๆ จะทำให้ได้รับรู้รสชาติของอาหารมากขึ้น ทำให้เกิดความพึงพอใจ เพลิดเพลินกับการรับประทาน ถ้าใครรู้ว่าตัวเองมีนิสัยการกินอาหารเร็วควรฝึกตนเองให้กินช้าลง โดยวางช้อนส้อมระหว่างคำ เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัว หรือเพื่อนที่รับประทานด้วย
4. เลือกรับประทานที่ชอบ การปฏิเสธอาหารที่ชอบจะทำให้มีความอยากมากขึ้น จนทนไม่ไหว ควบคุมตนเองไม่ได้ และทำให้กินอาหารมากเกินควรภายหลัง แต่ถ้าอนุญาตตนเองให้กินอาหารที่ชอบที่อยากกินในปริมาณที่พอเหมาะจะทำให้ความอยากอาหารลดน้อยลงและสามารถควบคุมตนเองได้ อาจใช้วิธีแลกเปลี่ยนอาหาร เช่น ถ้าอยากรับประทานโดนัท 1 ชิ้น 200 แคลอรี่ ให้ลดปริมาณข้าวลง 2 ทัพพี และเลือกอาหารไขมันต่ำในมื้อถัดไป การวางแผนล่วงหน้าจะป้องกันการรับประทานอาหารมากเกินควร
5. หลีกเลี่ยงการมีขนมไว้ยั่วยวนใจ โดยการไม่ซื้อมาเก็บไว้ที่บ้าน หรือถ้าซื้อมาให้คนอื่นในครอบครัวให้เก็บไว้ในตู้ เพราะถ้าไม่เห็นก็จะไม่นึกถึง และไม่เอาเข้าปาก ถ้าคุณเป็นคนที่ใช้เวลาส่วนมากอยู่ในครัว อาจพิจารณาย้ายไปห้องนั่งเล่นเพื่อทำกิจกรรมอื่นหรือเพื่อผ่อนคลาย ถ้าไปเดินเล่นห้างสรรพสินค้าพยายามหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอาหารขายเยอะ ๆ เวลากลับมาบ้านแทนที่จะเดินเข้าห้องครัวทันทีเพื่อหาอะไรรับประทาน ให้เปลี่ยนเส้นทางเป็นเดินไปเปลี่ยนเสื้อผ้า และพักผ่อนก่อนที่จะเข้าห้องครัว
6. มีแบบแผนการรับประทานที่มีความเป็นไปได้ นั่นคือมีความยืดหยุ่นกับตนเองบ้าง ชีวิตเราในแต่ละวันมีความแตกต่างกันออกไป บางวันเครียด บางวันสบาย บางวันมีงานเลี้ยง ถ้าเผลอรับประทานเยอะหน่อยที่งานเลี้ยงก็ไม่ต้องลงโทษตัวเองจะทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ให้เลือกอาหารที่ “เบา ๆ” ในวันถัดมา จะไม่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
7. จัดตารางเวลาให้กับการออกกำลังกายและจดลงในสมุดนัด โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำและมีงานยุ่ง ประโยชน์ของการออกกำลังกายนั้นมีมากมาย นอกจากจะเป็นวิธีเผาผลาญพลังงานแล้วยังช่วยคลายเครียด กระชับกล้ามเนื้อและทำให้มีสุขภาพดี แต่ข้อสำคัญคือ ควรเพลิดเพลินสนุกไปกับการออกกำลังกายด้วย เพราะถ้าใช้การออกกำลังกายเป็นบทลงโทษตนเอง หรือเพื่อเพียงเผาผลาญพลังงานแล้วจะทำให้รู้สึกเบื่อและเลิกไปในที่สุด ควรเลือกกิจกรรมที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นว่ายน้ำ เดิน วิ่ง โยคะ หรือเต้นลาตินก็ตาม แนะนำให้ออกกำลังกาย 30-60 นาที 4-7 วันต่อสัปดาห์ เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง และป้องกันการเพิ่มน้ำหนัก
การลดน้ำหนักเป็นเรื่องที่พูดกันง่ายแต่ทำกันยาก นี่อาจเป็นเพราะมีข้อมูลและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการลดน้ำหนักมากมายทำให้ผู้ที่อยากลดน้ำหนักสับสนกับข้อมูล ความเชื่อ ๆ ผิดอย่างหนึ่ง คือ “อาหารประเภทแป้งทำให้อ้วน” ตัวแป้งเองไม่ได้ทำให้อ้วน แต่การได้รับแคลอรี่เกินกว่าที่ใช้จะทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น แป้งและโปรตีนมีพลังงาน 4 แคลอรี่ต่อกรัม เทียบกับไขมันที่มี 9 แคลอรี่ต่อกรัม และแอลกอฮอล์ที่มี 7 แคลอรี่ต่อกรัม อาหารประเภทแป้งที่มีไขมันแฝงอยู่มีมากมาย เช่น ขนมปัง ขนมปังกรอบ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่างๆ โรตี ขนมน้ำกะทิ ขนมทอดกรอบ และอื่นๆ อาหารประเภทแป้งที่มีไขมันสูงนี้มักมีน้ำตาลสูงด้วย และมีแคลอรี่สูง การรับประทานอาหารประเภทนี้เป็นประจำหรือในปริมาณมากนั้นจะทำให้มีพลังงานสะสม และทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ อาหารประเภทแป้งที่มีประโยชน์ได้แก่ ข้าวซ้อมมือ เส้นต่างๆ เมล็ดถั่วธัญพืช มีวิตามิน แร่ธาตุและไฟเบอร์ ที่ทำให้รู้สึกอิ่มท้อง ควรเลือกอาหารประเภทแป้งที่มีประโยชน์พวกนี้ เป็นส่วนมาก
วิธีลดน้ำหนักที่กำลังเป็นที่นิยมมากในตอนนี้คือ ไดเอทแบบโปรตีนสูง นั่นคือ อดอาหารประเภทแป้ง รับประทานแต่โปรตีนกับผัก วิธีลดนำหนักแบบนี้จะทำให้น้ำหนักลงได้เร็ว นั่นเป็นเพราะ
ร่างกายขับน้ำออกมามาก คาร์โบไฮเดรต หรือแป้งทำให้กล้ามเนื้อกักน้ำไว้ เมื่อมีแป้งน้อยน้ำในกล้ามเนื้อจะน้อยลงตามด้วย
เมื่ออดอาหารประเภทแป้ง แคลอรี่ที่ได้รับในแต่ละวันจะลดลงด้วย ไม่เพียงแต่งดขนมปัง 2 แผ่น (160 แคลอรี่) เท่านั้น แต่คุณสามารถตัดแคลอรี่จากเนย 2 ช้อนชา (90 แคลอรี่) ที่ตามมาด้วย
อาหารประเภทโปรตีนทำให้คุณรู้สึกอิ่มท้องนาน เพราะใช้เวลาในการย่อยนานจึงทำให้ไม่หิวบ่อย จนกระทั่งคุณมีความอยากอาหารประเภทแป้งอีก ซึ่งก็อาจทำให้คุณเลิกไดเอทได้ง่ายๆ เหมือนกัน มีงานวิจัยพบว่า หลังจาก 1 ปี ผู้ที่ลดน้ำหนักแบบโปรตีนไม่ได้มีน้ำหนักที่ลดลงแตกต่างจากผู้ที่ลดน้ำหนักแบบคาร์โบไฮเดรตสูง ไขมันต่ำแต่อย่างใด ดังนั้นผู้ที่จะลดน้ำหนักควรพิจารณาดูว่า อาหารที่ตนชอบคืออะไร ถ้าชอบรับประทานแป้งก็ไม่ควรไปอด เพราะการลดน้ำหนักจะไม่ประสบความสำเร็จ
One Day Menu เมนูลดน้ำหนัก
มื้อเช้า :
เต้าหู้หลอดกวน ใส่ต้นหอม
มะเขือเทศ (ใช้เต้าหู้1/2 หลอด)
ขนมปังโฮลวีท 2 แผ่น
ทาเนยถั่วหรืองาบด 1 ช้อนโต๊ะ
กล้วยน้ำว้า 1 ลูก
กาแฟใส่นมพร่องไขมัน ½ ถ้วยตวง
มื้อเที่ยง :
ขนมจีนน้ำยา 1 ชาม
ผักตามชอบ
แก้วมังกร 1/2 ผล
มื้อบ่าย :
อัลมอนด์ 10 เม็ด
มื้อเย็น :
สลัดยำปลาทูน่า 1 จาน ใช้ปลาทูน่าแพ็คในน้ำ ½ กระป๋อง
มะม่วงสุก 1 ผล
นมพร่องไขมัน 1 ถ้วย
เมนูนี้ให้พลังงาน 1,200 แคลอรี่ พลังงานที่ต้องการในการลดน้ำหนักจะแตกต่างกัน ในแต่ละคน ซึ่งคนส่วนมากได้รับพลังงานต่ำไปกว่า 1,200 แคลอรี่ ถ้าใครตัวสูงหรืออกกำลังกายมาก แนะนำให้เพิ่มพลังงานเป็น 1,500-1,800 แคลอรี่ต่อวัน
อย่าลืมว่าการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วโดยควบคุมจนมากเกินไป ปฏิเสธอาหารที่ตนชอบจะไม่ได้ผลในระยะยาว ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย แต่ในปริมารที่พอเหมาะ จะทำให้น้ำหนักค่อย ๆ ลง มีสุขภาพที่ดีด้วย
วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ลดน้ำหนักได้...ไม่ต้องอดอาหาร
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร Health Today
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น